แซนโฎนตา (โดน ตา) เป็นประเพณีเซ่นไหว้ผีและบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมร รวมถึงชาวเขมรหรือกัมพูชาด้วย เป็นการรำลึกและอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ อาจเรียกว่าเป็นประเพณีในเทศกาลสารท คล้ายกับประเพณีสลากภัต ตานก๋วยสลาก หรือบุญเดือนสิบในภาคอื่นๆ
ไงเบ็ณฑ์ตู๊จ (วันสารทเล็ก)
ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ(10) ปี 2567 ตรงกับ วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ.2567
วันเบ็ณฑ์ตู๊จหรือวันเบ็ณฑ์เล็ก คือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 จะมีทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน และนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ที่วัด เพื่อให้พระสงฆ์รับรู้ว่าชาวบ้านกำลังจะเข้าสู่ประเพณีกันเบ็ณฑ์หรือกันซ็องแล้ว และยังเชื่อว่าการทำบุญครั้งนี้เป็นการบอกยมบาลให้เตรียมปล่อยวิญญาณมายังโลกมนุษย์
ไงแซนโฎนตา (วันสารทใหญ่)
แรม 14 ค่ำ เดือนสิบ(10) ปี 2567 ตรงกับ วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2567
วันแซนโฎนตา หรือวันเบ็ณฑ์ธม (วันสารทใหญ่) คือวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันที่ญาติพี่น้องทุกคนต้องร่วมกันทำบุญที่วัด เป็นหน้าที่ที่ขาดไม่ได้ มีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกครั้งที่บ้าน เชื่อว่ายมบาลจะปล่อยวิญญาณออกมาในวันเวลาแตกต่างกันตามแต่ผลบุญที่ทำไว้ ใครถูกปล่อยออกมาก่อนก็จะได้รับอานิสงส์มากกว่าวิญญาณที่ถูกปล่อยทีหลัง ดั้งนั้นในวันแรม 14 ค่ำ จึงเป็นการอ้อนวอนให้ยมบาลปล่อยวิญญาณออกมาให้หมดเพื่อให้มารับอานิสงส์ผลบุญด้วยตนเอง วิญญาณจะได้ทุกข์ทรมานน้อยลง และยังเชื่ออีกว่าหากไม่มีญาติพี่น้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ วิญญาณเหล่านั้นจะอดอยากทุกข์ทรมาน และอาจโกรธแค้นสาปแช่งผู้คนต่างๆ นานา การเซ่นไหว้จึงเป็นการขอความคุ้มครอบและอ้อนวอนให้บรรพบุรุษปกปักรักษาตนเองให้อยู่เย็นเป็นสุขด้วย
ข้อมูลจาก ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย